ธรรมนูญข้อบังคับ
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์
Catholic Commission for Inter-religious Dialogue
(ฉบับร่าง ค.ศ.2008)
ข้อ1ระเบียบข้อบังคับนี้เรียกว่า“ข้อบังคับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์”
ข้อ2ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ3ให้ยกเลิกข้อกำหนดอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม และให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
หมวดที่ 1
ชื่อ สถานที่ตั้ง และลักษณะทั่วไป
ข้อ 4 องค์กรนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์” และใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Catholic Commission for Inter-religious Dialogue”
ข้อ 5 สำนักงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ ตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักงานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เลขที่ 122/11 ชั้น 4 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
ข้อ 6 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานระดับชาติ อยู่ในกรรมาธิการฝ่ายธรรมทูตและการศึกษาคาทอลิก ภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานของ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่ง ประเทศไทย มีบทบาทหน้าที่ร่วมในพันธกิจงานด้านธรรมทูต
หมวดที่ 2
วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์
ข้อ 7 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ มี วิสัยทัศน์ ร่วมกับพระศาสนจักรไทย คือ “คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกับทุกศาสนิกร่วมมือสร้างสังคมให้มีสันติสุข”
ข้อ 8 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์มี พันธกิจ คือ “คริสตชน ฟื้นฟูชีวิตให้สนิทกับพระ คริสตเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกันกับศาสนาต่างๆ โดยการเสวนาฉันพี่น้อง แสวงหาคุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรม เรียนรู้หลักศาสนธรรม ร่วมมือแบ่งปันซึ่งกันและกันให้สังคมไทยมีสันติสุข เพื่อเสริมสร้างอาณาจักรพระเจ้า”
ข้อ 9 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ มี วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ รับผิดชอบงานด้านศาสนสัมพันธให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของพระศาสนจักรสากล และ พระศาสนจักรท้องถิ่น
ข้อ 10 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์มี นโยบาย ดังต่อไปนี้
10.1 ส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนาทุกระดับ โดยเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาศัยกระบวนการเสวนาด้วยชีวิต เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว
10.2 ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้คุณค่าศาสนาต่างๆ วัฒนธรรมประเพณี และภูมิ-ปัญญาท้องถิ่นในสังคมไทย
10.3 ส่งเสริมความร่วมมือกันให้เกิดความรัก และสันติสุข
หมวดที่ 3
องค์ประกอบ และการบริหารงาน
ข้อ 11 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการและหน่วยงานดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการคณะกรรมการอำนวยการ
- คณะกรรมการบริหาร
- สำนักงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์
ข้อ 12 คณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วย
- ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ ได้แก่ พระสังฆราชที่ได้รับมอบหมายจาก สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
- เลขาธิการ เพื่อทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการอำนวยการ ให้มีวาระเท่ากับ วาระของ พระสังฆราชผู้แต่งตั้ง
- คณะกรรมการอำนวยการ สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ตามความ เหมาะสม
- คณะกรรมการอำนวยการฯ ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสังฆมณฑลๆ ละ 1 ท่าน ผู้แทนชมรมนักบวชชาย 1 ท่าน ผู้แทนชมรมนักบวชหญิง 1 ท่าน ผู้แทนจากองค์กรคาทอลิก 1 ท่าน
ข้อ 13 คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย
- ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ ได้แก่ พระสังฆราชฯ
- เลขาธิการ
- คณะกรรมการบริหารฯ ผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งซึ่งอยู่ในเขตสังฆมณฑลใกล้เคียงกรุงเทพฯ ได้แก่ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, สังฆมณฑลราชบุรี, สังฆมณฑลจันทบุรี และสังฆมณฑลนครราชสีมา ผู้แทนจากชมรมนักบวชชาย 1 ท่าน ผู้แทนจากชมรมนักบวชหญิง 1 ท่าน ผู้แทนจากองค์กรคาทอลิก 1 ท่าน
ข้อ 14 กรรมการอยู่ในตำแหน่งวาระละ 3 ปี พ้นจากตำแหน่งต่อเมื่อ
14.1 ถึงคราวออกตามวาระของผู้แต่งตั้ง
14.2 ตาย
14.3 ลาออก
14.4 มีความประพฤติผิดอย่างร้ายแรง และที่ประชุมมีมติให้ออก
หมวดที่ 4
การดำเนินงาน
ข้อ 15 ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และได้รับการแต่งตั้ง
ข้อ 16 คณะกรรมการอำนวยการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือวางนโยบาย ของคณกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ รับทราบ และติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร พร้อมทั้งอนุมัติและเสนอแนะโครงการให้ คณะกรรมการบริหารนำไปดำเนินการ
ข้อ 17 คณะกรรมการบริหารประชุมอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง เพื่อรับทราบ และอนุมัติการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ติดตามโครงการ ที่สำนักงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ดำเนินงาน ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ 18 การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหารทุกครั้งจะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ จึงจะเป็นองค์ประชุม และมติใดๆ ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการ ที่เข้าร่วมประชุม
ข้อ 19 การลงคะแนนเสียงในข้อ 18 นั้น กรรมการอำนวยการ กรรมการบริหารมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงท่านละหนึ่งเสียง (ถึงแม้ดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง) และกรรมการที่ปรึกษาไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง ผู้ที่มาประชุมแทนกรรมการฯ จะต้องได้รับการมอบหมายจากประธานองค์กรนั้นๆ เป็นลายลักษณ์อักษร
ข้อ 20 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่ คือ
- วางระเบียบขึ้นใช้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ และข้อบังคับ
- แต่งตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ หรือเชิญผู้มีเกียรติคุณเข้าร่วมกิจกรรมเฉพาะกิจได้
- แต่งตั้ง บรรจุ ปลด พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์
- พิจารณาการให้สั่งของสำหรับเป็นที่ระลึกหรือพิจารณาค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
- จัดทำร่างแผนงานในการทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการพิจารณาอนุมัติ
ข้อ 21 ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญ ได้เมื่อมีความจำเป็น
ข้อ 22 การดำเนินงานของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ อยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของเลขาธิการ
หมวดที่ 5
การเงิน
ข้อ 23 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ ดำเนินงานโดยมีงบประมาณจาก
- สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
- ทุนจากต่างประเทศ
- รับลงทะเบียน
ข้อ 24 ระเบียบว่าด้วยการเงินของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ มีดังนี้
24.1 การเก็บรักษาเงิน
24.1.1 ให้เหรัญญิกหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากประธานกรรมการ อำนวยการเป็นผู้เก็บรักษาเงินโดยฝากไว้กับธนาคาร ในบัญชีออมทรัพย์/บัญชีฝากประจำ ตามที่ คณะกรรมการอำนวยการมีมติเห็นชอบ
24.1.2 เหรัญญิกหรือผู้รักษาเงินที่ได้รับมอบอำนาจจะมีเงินสดไว้เพื่อสำรองจ่ายในกิจกรรมของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ในวงเงิน เดือนละไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
24.2 ผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจากธนาคาร ผู้มีสิทธิลงนามเบิกจ่ายเงินของธนาคาร ได้แก่ ประธานคณะกรรมการบริหาร เลขาธิการ และเหรัญญิก ทั้งนี้ในการ เบิกจ่าย แต่ละครั้ง จะต้องมีผู้ลงนามสองรายชื่อของผู้มีสิทธิลงนามเบิกจ่ายเงินจากธนาคารดังกล่าวข้างต้น
24.3 อำนาจจ่ายเงินการใช้จ่ายที่เกินครั้งละ 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ยกเว้น ค่าใช้จ่ายประจำ หรือเงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
24.4 การทำบัญชีการเงินและรายงานสถานภาพทางการเงิน
24.4.1 เหรัญญิกเป็นผู้จัดทำบัญชีการเงินให้ถูกต้องตามหลัก บัญชีของสำนักงบประมาณในสภาพระสังฆราชฯ และรายงานต่อคณะกรรมการอำนวยการ และกรรมการบริหาร ทราบทุกครั้งที่มีประชุม
24.4.2 ต้องมีการตรวจสอบบัญชี โดยผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับใบอนุญาตให้ถูกต้อง ปีละ 1 ครั้ง โดยใช้ปีปฏิทินในการทำงบประมาณ
24.4.3 ต้องมีการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี โดยการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวย
หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลง แก้ไข
ข้อ 25 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับนี้กระทำได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
ข้อ 26 ประธานคณะกรรมการอำนวยการ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด กรณีเกิดปัญหาตีความตามข้อบังคับฉบับนี้
ข้อ 27 ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจเรียกร้องให้มีการปรับปรุงข้อบังคับได้เมื่อเห็นสมควรโดยแต่งตั้งคณะกรรมการทำการปรับปรุง และข้องบังคับที่ปรับปรุงแล้วจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ และประธานคณะกรรมการอำนวยการลงนามแล้วเท่านั้น
|